Pharmacy Division Ramathibodi Hospital

Home
Pharmacist
About
รอบรู้เรื่องยา
คุยกันเรื่องยา

คำแนะนำในการรักษาการติดเชื้อ HIV / AIDs


ฝ่ายเภสัชกรรม
โรงพยาบาลรามาธิบดี




เนื่องจากโรคเอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งมีผลในการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เสียไป ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคปอดบวม วัณโรค เชื้อรา และโรคมะเร็งได้ง่าย ผู้ป่วยมักเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ แนวทางในการใช้ยารักษาโรคเอดส์ จึงทำได้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ
  1. หยุด หรือ ชลอการเพิ่มจำนวนของไวรัสโดยใช้ ยาต้านไวรัส (Antiviral therapy)
  2. เสริมภูมิต้านทานที่บกพร่อง โดยใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  3. รักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อฉวยโอกาสและโรคมะเร็ง

ยาต้านไวรัสเอชไอวี

ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีด้วยกันหลายชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป การเลือกใช้ยาจะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบบแผนการรักษาที่จะให้ผลดี และช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จะต้องใช้ยา 3 ตัวรวมกันหรือมากกว่า ที่เรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) การรักษาด้วยวิธีนี้ จะทำให้อัตราป่วยจากโรคแทรกซ้อน และอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ ลดลงได้อย่างมาก ถึงแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ปัจจุบันยาต้านไวรัสเอชไอวี สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
  1. Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs)
  2. Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs)
  3. Protease inhibitors (PIs)

ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานยา
ปฏิกิริยาระหว่างยากับยา

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง จนถึงระดับหนึ่ง อาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เช่น เชื้อรา เชื้อวัณโรค ฯลฯ ยาที่ใช้รักษาเชื้อแทรกซ้อนเหล่านี้ รวมทั้งยาอื่นๆ ที่ใช้ร่วม อาจมีผลต่อระดับยาต้านไวรัส HIV ในเลือดได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาหลายๆ ชนิด จะมีผลต่อระดับยาต้านไวรัส HIV ในเลือด อาจทำให้เกิดความเป็นพิษจากยาได้ หรืออาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ดังนั้นหากจะใช้ยาตัวอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันยาต้านไวรัส HIV อาจมีเปลี่ยนแปลงระดับยาในเลือดได้

ยาที่ใช้ร่วม
ผลที่เกิด
ยาต้านเชื้อรา ได้แก่ Ketoconazole เพิ่มระดับยาต้านไวรัส HIV
ยาต้านเชื้อวัณโรค ได้แก่ Rifampin ลดระดับยาต้านไวรัส HIV
ยาลดไขมันในเลือด ได้แก่ Simvastatin, Lovastatin เพิ่มระดับยาลดไขมันในเลือด
ยากันชัก ได้แก่ Phenobarbitol, Phenytoin, Carbamazepine ลดระดับยาต้านไวรัส HIV


ปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร

สมุนไพรบางชนิด ได้แก่ St.John’s wort, Grapefruit juice มีผลลดระดับยาต้านไวรัสในเลือด ทำให้การรักษาการติดเชื้อ HIV ไม่ได้ผล จึงควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรดังกล่าว

สมุนไพรที่ใช้ร่วม
ผลที่เกิด
St. John’s wort ลดระดับยาต้านไวรัส HIV


ปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหาร

ยาต้านไวรัส
ผลของอาหาร
คำแนะนำในการรับประทานยา
กลุ่ม NRTIs ได้แก่ Videx (ddI) อาหารลดระดับยาในเลือดลงร้อยละ 55 รับประทานก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
กลุ่ม PIs ได้แก่ Crixivan (Indinavir) อาหารลดระดับยาในเลือดลงร้อยละ 77
Grapefruit juice ลดระดับยา indinavir ลงร้อยละ 26
รับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหาร 2 ชั่วโมง
กลุ่ม NNRTIs ได้แก่ Stocrin (Efavirenz) อาหารที่มีไขมันสูงจะเพิ่มระดับยาในเลือด ร้อยละ 50 ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษจากยาได้ ไม่ควรรับประทานพร้อมกับอาหารที่มีไขมันสูง


อาการไม่พึงประสงค์ของยาต้านไวรัส HIV

ยาต้านไวรัส
อาการไม่พึงประสงค์
- กลุ่ม NRTIs
Antivir, Retrovir (AZT) คลื่นไส้อาเจียน โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ
Videx (ddI) ตับอ่อนอักเสบ, ชาปลายมือปลายเท้า, กรดยูริกในเลือดสูง
Stavir, Zerit (d4T) ตับอ่อนอักเสบ, ชาปลายมือปลายเท้า
Ziagenavir (Abacavir) ปฏิกิริยาภูมิแพ้, อ่อนเพลีย, เปลี้ย, น้ำหนักลด
- กลุ่ม NNRTIs
Stocrin (Efavirenz) ผื่น, อาการข้างเคียงของระบบประสาทส่วนกลาง (มึนงง, นอนไม่หลับ, ฝันร้าย), เอนไซม์ตับเพิ่ม
Viramune (Nevirapine) ผื่น, ตับอักเสบ, เอนไซม์ตับเพิ่ม
- กลุ่ม PIs
Kaletra (Lopinavir/Ritonavir)
Viracept (Nelfinavir)
Norvir (Ritonavir)
Fortavase (Saquinavir)
Crixivan (Indinavir)
ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูง, ไขมันในเลือดสูง, การสะสมของเนื้อเยื่อไขมันในร่างกายผิดปกติ (แก้มตอบ, แขนขาลีบ, ท้องโต, มีหนอกที่หลัง)

หมายเหตุ: Crixivan ทำให้เกิดนิ่วในไต ดังนั้นควรดื่มน้ำมาก ๆ ตามไปอีก 1 ลิตร หลังรับประทานยา


อาการเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย

หากท่านเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ให้กลับมาพบแพทย์ทันทีเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา

วิธีการเก็บรักษายา
© 2003 ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี

Back To Top © 2001-2009 RxRama ---- All rights reserved.