Pharmacy Division Ramathibodi Hospital

Home
Pharmacist
About
รอบรู้เรื่องยา
คุยกันเรื่องยา

โรคที่มากับฤดูร้อน


นพ. พงษ์เกียรติ ประชาธำรง
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
โรงพยาบาลรามาธิบดี



สวัสดีครับท่านผู้สนใจในการดูแลสุขภาพ ย่างเข้าฤดูร้อนแล้ว พื้นที่หลายแห่งก็เริ่มแห้งแล้ง มีการขาดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของฤดูกาลปกติ หรือจะปรากฎการณ์เอลนิโนก็ตาม สรุปรวมความแล้วก็คือ ร้อนและแล้ง จากสภาวะอากาศที่กล่าวมานี้เอง เรามักจะพบว่ามีโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของเรา โดยมากก็เกี่ยวเนื่องกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคยอดนิยม คือ

โรคท้องร่วง

สภาวะท้องร่วง มักมากับฤดูกาลนี้ เนื่องจากแมลงวันจะมีการเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้เป็นอย่างดี ตลอดรวมจนถึงอาหาร มีโอกาสบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจะดูแลป้องกันโรคท้องร่วงนี้ ควรจะทำอย่างไรบ้าง อาทิ เช่น รับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีภาชนะที่สะอาด และป้องกันแมลง

บ่อยครั้งที่อาหารที่รับประทาน เป็นอาหารที่สะอาด และร้อน (ทำเสร็จใหม่ ๆ) แต่เรามักจะลืมนึกถึง ภาชนะที่เรานำมาใส่ หรือรวมถึงช้อน ซ่อม ตะเกียบ บ่อยครั้งไม่สะอาด ก็เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงได้

และที่สำคัญ ในยุคนี้เศรษฐกิจพอเพียง การทำอาหารทานเองที่บ้านจะประหยัดกว่า สะอาดกว่า แต่เมื่อทำออกมาแล้วทานไม่หมด การเก็บอาหารเข้าตู้เย็น ก็ควรระมัดระวัง หมอเองก็มีเทคนิคง่าย ๆ สะดวกและประหยัด ในการเก็บอาหารสำหรับทานหลาย ๆ มื้อ โดย การตักแบ่งอาหารนั้นออกมาใส่ถุงเล็กทีละใบ และนำเข้าตู้เย็น จะทานถุงใด ก็นำออกมาทาน พยายามทานให้หมด เหลือก็ทิ้งเสีย จะได้ไม่มีการปนเปื้อนในถุงอื่น และอาหารนั้นก็จะเก็บไว้ทานได้นานขึ้น

อีกประการหนึ่งสภาวะท้องร่วงอย่างรุนแรง ในบ้านเรายังคงมีอยู่ โดยเชื้อที่เป็นญาติ กับเชื้ออหิวาตกโรค โดยมากจะพบในอาหารทะเลที่ไม่สุก ดังนั้นก็ควรเลือกอาหารทะเลที่สุกรับประทาน น้ำจิ้มอาหารทะเลก็ควรระมัดระวังด้วยนะครับ

โรคไข้เลือดออก

โดยทั่วไปไข้เลือดออก มักจะมาชุกชมให้ปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว เนื่องจากยุงที่เป็นพาหะของไข้เลือดออกนี้เป็นยุงลาย เป็นยุงที่อาคัยอยู่ในบ้านเรือนคน ชอบน้ำนิ่งและสะอาด เช่นตามจานรองกระถางต้นไม้ แจกัน ฯ

ปีที่ผ่านมา จำนวนคนไข้ที่เป็นไข้เลือดออกค่อนข้างมาก และไม่ค่อยลดลงเลยในช่วงต้นปีนี้ ทำให้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกน่าจะสูงขึ้น และในฤดูร้อนนี้จะมีผลการระบาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กในบ้าน หรือผู้ใหญ่ที่นิยมนอนช่วงเวลาบ่าย ก็จะเป็นช่วงที่ยุงนี้ออกหากิน ถ้าจะให้ปลอดภัยก็ควรจะมีมุ้งลวดในบ้าน และที่สำคัญคอยกำจัดยุง เช่น ในแจกัน ก็เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ในตุ่มน้ำก็ควรหาฝาปิดให้เรียบร้อย หรือการใช้ยาทากันยุงช่วย ก็พอจะช่วยลดปัญหานี้ได้บ้าง

โรคหวัด

เป็นโรคยอดนิยมของคนไทยได้ทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝน เนื่องจากเปียกฝน แต่ฤดูร้อนก็อย่านึกว่าจะแคล้วคลาดนะครับ โดยเฉพาะในเดือนเมษายนนี้ มีเทศกาลสงกรานต์ หมอเองก็พบว่า มีผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัด มารับการรักษาที่ตามโรงพยาบาลและคลินิกอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเล่นน้ำสงกรานต์ หมอเองก็อดไม่ได้ที่จะไปเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยเลย แต่หมอเองก็มีกลเม็ดเล็กน้อยมาแนะนำว่า หาถุงพลาสติกใส่เสื้อแห้งอีกหลาย ๆ ตัว เพราะเวลาเล่นน้ำแล้ว อยู่กลางแจ้งก็ยังพบทน แต่ถ้าเข้าห้องที่ปรับอากาศ หรือเข้ารถที่ปรับอากาศ ต้องระมัดระวัง การเปลี่ยนเป็นเสื้อแห้ง จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นอีกเล็กน้อย และหลังเลิกเล่นแล้ว รีบกลับมาอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และไม่ควรเล่นสงกรานต์ ถ้ารู้สึกว่าไม่ค่อยสบายอยู่แล้ว เพราะจะมีโอกาสป่วยหนักขึ้นได้ง่าย

ปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรคหวัดที่ดี คือ ทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเน้นถึงผัก ผลไม้ มากขึ้น เพื่ออย่างน้อยให้ได้รับสารจำพวกไวตามินซี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ (โดยมากขอเพียงให้มีการออกกำลังกายต่อเนื่อง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที) การพักผ่อนที่พอเหมาะ (คือไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน) การให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ที่ผู้ป่วยอยู่กันหนาแน่น เพื่อลดความเสี่ยงของการไอ จาม รดหน้ากัน

นอกจากโรคติดเชื้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีอีกหลายโรคที่ยังคงพบได้บ่อยในฤดูร้อน แต่จะขอกล่าวถึงโรคผิวหนังอีกเล็กน้อยที่มักจะมาในฤดูกาลนี้ คือ

เชื้อราตามผิวหนัง และเท้า

โดยมากโรคนี้จะมาเนื่องจากการอับชื้นของผิวหนัง และการดูแลความสะอาดส่วนตัวของแต่ละบุคคล อาทิเช่น เสื้อผ้าที่ใช้ มีการซักและตากให้แห้งดีพอหรือไม่ การอาบน้ำทำความสะอาดตัว รวมถึงการเช็ดตัว การซักถุงเท้า ฯ โดยมากโรคพวกนี้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะสร้างความเสียหายของหน้าตา สูญเสียบุคลิกภาพ หมอเองมีเทคนิคง่าย ๆ สำหรับการดูแลเท้าประการหนึ่ง คือ การซักถุงเท้า และตากให้แห้ง ไม่ควรนำถุงเท้ามาใส่ซ้ำ ๆ ในวันถัดมา รองเท้าควรมีสลับเปลี่ยน โดยเฉพาะคุณผู้ชายที่ทำงานในสำนักงาน ควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ ใส่สลับกัน เพื่อช่วยลดความอับชื้นของเท้า รองเท้ากีฬาหลังใส่เล่นกีฬาแล้วควรจะผึ่ง ไม่ควรใช้ระบบหมกเม็ด หรือ "ซุกกิ้ง" เนื่องจากความชื้นของเหงื่อ บวกกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะช่วยให้เชื้อราเติบโต

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะท่องเที่ยวตามชายทะเล และกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดปัญหาต้องมานอนแสบ จากการที่แสงแดดแผดเผา หมอแนะนำให้ใช้ครีมกันแดด ทาตามตัวก่อนออกสู่แดดอย่างน้อย 30 นาที และเลือกชนิดที่มี SPF สูงสักหน่อย ให้มากกว่า 15 จะช่วยให้ผิวไม่ดำคล้ำ และไม่ค่อยแสบมากนัก และหากจะเล่นน้ำด้วยแล้ว ควรจะทาครีมกันแดดบ่อยสักหน่อย อาจจะทุก 1 ชั่วโมง เพราะเมื่อลงน้ำแล้ว ครีมกันแดดเหล่านี้จะละลายออกจากผิวหนังเราได้ แต่ผู้ที่ต้องการให้ผิวคล้ำ ก็อาจจะใช้ครีมที่มี SPF ต่ำหน่อย หรือถ้าต้องการประหยัด ก็อาจจะใช้น้ำมันมะพร้าวทาตามตัวก็ได้ แต่กลิ่นอาจจะฉุนสักหน่อย

หวังว่าฤดูร้อนนี้ คุณผู้อ่านทุกท่าน คงจะมีสุขภาพร่างกายที่ดี และได้พักผ่อนตามที่ปรารถนาอย่างมีความสุข

© 2002 นพ. พงษ์เกียรติ ประชาธำรง

Back To Top © 2001-2009 RxRama ---- All rights reserved.